ปรึกษาทนายจิม
085-939-3392

Line ID: @tanaijim

บทความ

อ่านต่อ
การรับมรดกแทนที่

กรณีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก (การรับมรดกแทนที่)

ารรับมรดกแทนที่กันเป็นกรณีที่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก แต่ได้ตายก่อนเจ้ามรดก หรือถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย

การพิจารณาว่าบุคคลใดมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ สามารถพิจารณาได้ดังนี้

 

1. ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้

กรณีมีพินัยกรรม และผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตาย แต่การรับมรดกแทนที่กันไม่มีในฐานะผู้รับพินัยกรรม จะมีได้เฉพาะทายาทโดยธรรมเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1642 บัญญัติว่า "การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม"

 

กรณีไม่มีพินัยกรรม มีแต่ในฐานะทายาทโดยธรรม โดยมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) คือ ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ลุง ป้า น้า อา เท่านั้นที่มีสิทธฺรับมรดกแทนที่ได้ ส่วนทายาทโดยธรรมลำดับที่ (2) และ (5) คือ บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รับมรดกแทนที่ไม่ได้ 

 

2. ลักษณะของการรับมรดกแทนที่

หากทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ยังมีชีวิตอยู่และมีสิทธิได้รับมรดก แต่ทายาทดังกล่าวได้ตายก่อนเจ้ามรดกหรือถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของผู้นั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ในส่วนมรดกของผู้นั้น
ถ้ามีผู้รับมรดกแทนที่หลายคนก็แบ่งส่วนคนละเท่าๆ กัน ถ้าผู้สืบสันดานคนใดตายไปเสียก่อนหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานของผู้นั้นก็รับมรดกแทนที่ต่อไปอีกทำนองเดียวกันเรื่อยไปเช่นนี้จนหมดสาย

เฉพาะผู้สืบสันดานของทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ(6) เท่านั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ผู้บุพการีไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643 บัญญัติว่า "สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่"

ถ้าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นยังไม่มีสิทธิในการเป็นผู้รับมรดกแทนที่ จะอ้างสิทธิในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่ไม่ได้

การรับมรดกแทนที่กันนั้น รวมถึงการที่บุคคลนั้นตายโดยผลของกฎหมายด้วย คือ ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1640 บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมาย นี้ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้

กรณีบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม คำว่าผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ได้กล่าวมาตามมาตรา 1627 นั้น ได้แก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
แต่ในเรื่องการรับมรดกแทนที่นั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1643 บัญญัติว่า "สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่" ซึ่งคำว่าผู้สืบสันดานโดยตรงนั้น หมายถึง ผู้สืบสันดานที่เป็นผู้สืบสายโลหิตที่แท้จริงของผู้นั้น

ส่วนบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ที่ได้ตายก่อนเจ้ามรดกตายในกรณีอื่น เช่น บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานและถ้าได้ตายก่อนเจ้ามรดกตายและบุคคลนี้มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วดังกล่าว สามารถรับมรดกแทนที่ได้ เพราะบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก ดังนั้น บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตายก่อนเจ้ามรดกสามารถเข้ารับมรดกแทนที่ได้

แต่ถ้าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ตายก่อนเจ้ามรดกและบุคคลนี้ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม และต่อมาเมื่อเจ้ามรดกตายบุตรบุญธรรมถือว่าเป็นผู้สืบสันดานก็จริงแต่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงเข้ารับมรดกแทนที่ไม่ได้

ข้อสังเกต บุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานให้ผู้สืบสันดานรับมรดก เฉพาะส่วนของบุคคลผู้นั้นไป แต่ถ้าบุคคลนั้นตายหลังเจ้ามรดกจะมีการรับมรดกแทนที่ไม่ได้
ตัวอย่างเช่น มี ปู่ บิดา และบุตร ถ้าบิดาตายก่อนปู่ ต่อมาปู่ตาย บุตรมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาในการสืบมรดกปู่ แต่ถ้าปู่ตายก่อน บุตรจะเข้ารับมรดกแทนที่ไม่ได้ เพราะมรดกของปู่จะตกแก่บิดา แต่ถ้าต่อมาบิดาตายมรดกจะตกแก่บุตรแต่ผู้เดียว

กรณีปู่และบิดาตายพร้อมกัน เช่น ปู่และบิดาเดินทางไปเครื่องบินลำเดียวกัน เครื่องบินตกตายหมดทั้งลำ กฎหมายถือว่าปู่และบิดาตายพร้อมกันตามมาตรา 17 มรดกส่วนของบิดาไม่มีปัญหาตกแก่บุตร แต่มรดกของปู่ ถ้าตีความตรงตัวตามลายลักษณ์อักษร บุตรจะรับมรดกแทนที่ไม่ได้ เพราะบิดาไม่ได้ตายก่อนปู่ แต่บิดาตายพร้อมปู่จะทำให้มรดกของปู่ไม่มีผู้รับมรดก มรดกของปู่จะตกทอดแก่แผ่นดินคงไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย
ดังนั้น จึงเห็นว่าไม่ว่าบิดาตายก่อนหรือตายหลังเจ้ามรดกคือปู่ มรดกของปู่ก็ตกแก่หลาน ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานนั่นเอง ฉะนั้น แม้ปู่และบิดาตายพร้อมกันมรดกก็ตกแก่หลานโดยการรับมรดกแทนที่กันได้

การรับมรดกแทนที่ต้องมีสภาพบุคคล การรับมรดกแทนที่กันผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นจะต้องมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1644 บัญญัติว่า "ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก" หมายความว่า ต้องมีสภาพ บุคคลหรือมีความสามารถรับมรดกอยู่ในขณะเจ้ามรดกตาย หรือเป็นทารกในครรภ์มารดาในขณะเจ้ามรดกตายแล้วภายหลังเกิดมารอดอยู่ ดังนั้น หากยังอยู่ในครรภ์มารดาในเวลา ที่เจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานนั้นก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่

ทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้มาหลังทายาทตายแล้ว สิทธิในการเป็นทายาทมีอยู่ตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกตาย แต่สิทธิในการรับมรดกเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย สิทธิในการเป็นทายาทดังกล่าวนี้รวมถึงสิทธิในการเป็นผู้รับมรดกแทนที่ด้วย และสิทธิในการเป็นทายาทหรือเป็นผู้รับมรดกแทนที่นี้เป็นสิทธิที่จะรับมรดกของเจ้ามรดกโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะทรัพย์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฉะนั้น แม้เจ้ามรดกจะได้ทรัพย์มรดกสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเมื่อทายาทตายแล้ว ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นก็มีสิทธิรับมรดกแทนที่ในทรัพย์สิ่งนั้นได้

 

เอกสารอ้างอิง

รองศาสตราจารย์พรชัย สุนทรพันธุ์. (2549). คำอธิบายกฎหมายลักษณะมรดก(พิมพ์ครั้งที่ 3 ).กรุงเทพฯ:สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

 

อ่านต่อ
โจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ต้องห้ามฎีกาหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 490/2567   อุทธรณ์ฎีกา ห้ามฎีกาข้อเท็จจริง
     ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท ให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้ แม้เป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฏีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฎีกาของโจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
    

อ่านต่อ
ยักยอกรถยนต์รับจำนำ

จำเลยรับจำนำรถยนต์พิพาทจากป. จำเลยจึงมีเพียงสิทธิยึดถือครอบครองรถยนต์ไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และมีสิทธิจะขายทรัพย์จำนำได้ต่อเมื่อบอกกล่าวบังคับจำนำ เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้ ป. ชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปขาย

การที่จำเลยยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทแทน ป. ผู้จำนำ แล้วนำรถยนต์พิพาทไปขายและไม่สามารถนำมาคืนให้แก่ ป. ผู้จำนำซึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ถอนโดยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว

การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเอารถยนต์พิพาทไปเป็นของตนโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ป.

จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลอาญา มาตรา 352

อ่านต่อ
การจัดการมรดกโดยมีพินัยกรรมของผู้ตาย

เรื่องพินัยกรรม คดีขอเป็นผู้จัดการมรดกมีทั้งกรณีที่มีพินัยกรรมและไม่มีพินัยกรรม หากมีพินัยกรรมต้องตรวจสอบให้ดีว่าพินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่ พินัยกรรมข้อใดไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะทั้งฉบับ หลักๆ ก็จะพิจารณาในเรื่องเนื้อหาของพินัยกรรม พยานและคู่สมรสของผู้เขียนหรือพยาน หลักในการพิจารณา เช่น การลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดก ไม่ถือว่าลงชื่อในฐานะพยาน จึงมีสิทธิได้รับมรดก หรือ ผู้ที่มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม นั่งในที่ทำพินัยกรรมโดยบอกว่าตนเองเป็นพยาน แต่ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมไม่ตกเป็นโมฆะ จึงมีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม หรือพยานในพินัยกรรมเป็นนิติบุคคล แต่ตัวผู้แทนนิติบุคคลลงชื่อเป็นพยานก็ไม่ทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะเพราะไม่ถือว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ส่วนความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น

กรณีคนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ กรณีคนวิกลจริต ทำพินัยกรรมขณะจริตวิกล พินัยกรรมจะเสียเปล่า หากคนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม สามารถทำได้ พินัยกรรมสมบูรณ์ไม่มีกฎหมายห้าม 

#รับยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก #รับยื่นคำคัดค้านคดีมรดก #ทนายคดีมรดก #รับดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดก

อ่านต่อ
ระบบวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ระบบไต่สวน ในคดีปกครอง เป็นอย่างไร ??
คดีปกครอง ใช้วิธีพิจารณาระบบไต่สวน หลังจากผู้ฟ้องคดี ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ศาลจะกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทำคำคัดค้านคำให้การ และผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การเพิ่มเติม โดยศาลจะกำหนดระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งศาลสามารถเรียกเอกสาร หรือพยานหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานทางปกครองได้ เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่จำเป็นและครบถ้วน เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาคดีต่อไป
สำหรับคดีปกครองที่ทนายได้รับมอบหมายคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว บรรดาเอกสารใดๆ ที่ยื่นภายหลังจากวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลจะไม่รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดี
หลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลจะทำการนั่งพิจารณาคดีต่อไป โดยจะแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน