ปรึกษาทนายจิม
085-939-3392

Line ID: @tanaijim

กฎหมาย

อ่านต่อ
มาตรา 5” หรือ “มาตรา 5” อาญา

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599/2563
แม้จำเลยจะส่งมอบนาฬิกาของกลางที่ประเทศกัมพูชา แต่จำเลยแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคาร ก. ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ให้ ว. โอนเงินค่านาฬิกาเข้าบัญชีดังกล่าว ถือว่าจำเลยในฐานะตัวการได้กระทำผิดในราชอาณาจักรไทย ตาม ป.อ. มาตรา 5 และมาตรา 6เมื่อการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นกรณีความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (2) และ (3) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มิใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยอย่างเดียวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาทำการสอบสวน การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูก
หมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2552
แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดซึ่งถือเสมือนเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 1/1

อ่านต่อ
“มาตรา 4” หรือ “มาตรา 4 อาญา”

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2547
จำเลยมี 3,4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยเมื่อจำเลยลงจากเครื่องบินของสายการบินที่จำเลยโดยสารมาจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินไปยังเมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน ขณะจำเลยเดินผ่านห้องผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2547
ขณะที่เจ้าพนักงานตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษ จำเลยลงจากเครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อจะไปขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่ง จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎหมายไทยตาม ป.อ. มาตรา 4


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2535
เหตุเกิดขึ้นในเรือไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรพนักงานสอบสวน กองปราบปราม กรมตำรวจ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จึงมีอำนาจสอบสวน ส.เบิกความเป็นพยานจำเลย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานอันเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.อ. มาตรา 232 ไม่ คำเบิกความของส.นำมารับฟังเพื่อประกอบดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีได้.

อ่านต่อ
“มาตรา 3” หรือ “มาตรา 3 อาญา”

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2565
หมายจับเป็นหมายอาญาตามที่ ป.วิ.อ. บัญญัติไว้ใน หมวด 2 เมื่อตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา... ดังนั้นผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับได้ รวมทั้งให้หมายความถึงมีอำนาจพิจารณาการยกคำร้องขอออกหมายจับโดยพิจารณาว่าคดีอาญาตามที่ขอออกหมายจับนั้นขาดอายุความหรือไม่ ทั้งนี้ ในการออกหมายจับนั้นต้องพิจารณาประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการออกหมายจับ ผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาออกหมายจับมีอำนาจพิจารณาว่า คดีที่จะออกหมายจับนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย การสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการนับอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 แตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่ง ป.อ. บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว... เมื่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า และการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ ทั้งที่ผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า จึงต้องนําอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามากกว่า ไม่อาจนําบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2565
ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ” นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว...” ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้

อ่านต่อ
หมวด 2 การใช้กฎหมายอาญา

มาตรา ๒  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
               ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๓  ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ดังต่อไปนี้
               (๑) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในการที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่นี้ ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง หากเห็นเป็นการสมควร ศาลจะกำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดไว้ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ ศาลจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้
               (๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไม่ถึงประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และให้ถือว่าโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนเป็นโทษสูงสุดที่จะพึงลงได้ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง

มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย
               การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
               ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักรหรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา ๗  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
               (๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๒๙
               (๑/๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔
               (๒) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๖๖ (๓) และ (๔)
               (๒ ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓
               (๓) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๙ และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
               (ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
               (ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
               ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
               (๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ ถึงมาตรา ๒๒๓  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๒๐ วรรคแรก และ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๓ ถึงมาตรา ๒๓๖  ทั้งนี้ เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓๘
               (๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ (๑) และ (๒) มาตรา ๒๖๘  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๒๖๙
               (๒/๑) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑ ถึงมาตรา ๒๖๙/๗
               (๒/๒) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึงมาตรา ๒๖๙/๑๕
               (๓) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๕  ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๗๖
               (๔) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐
               (๕) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๘
               (๖) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
               (๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗ ถึงมาตรา ๓๒๐
               (๘) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๓๖
               (๙) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๗ ถึงมาตรา ๓๔๐
               (๑๐) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๔๔ มาตรา ๓๔๖ และมาตรา ๓๔๗
               (๑๑) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๒ ถึงมาตรา ๓๕๔
               (๑๒) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๗
               (๑๓) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๘ ถึงมาตรา ๓๖๐

มาตรา ๙  เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖ และมาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๕ นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

มาตรา ๑๐  ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๗ (๒) และ (๓) มาตรา ๘ และมาตรา ๙ ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า
               (๑) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ
               (๒) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว
               ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

มาตรา ๑๑  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ถ้าผู้นั้นได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้วทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ได้ถูกฟ้องต่อศาลในต่างประเทศโดยรัฐบาลไทยร้องขอ ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า
               (๑) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ
               (๒) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

มาตรา ๑๒  วิธีการเพื่อความปลอดภัยจะใช้บังคับแก่บุคคลใดได้ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ใช้บังคับได้เท่านั้น และกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นให้ใช้กฎหมายในขณะที่ศาลพิพากษา

มาตรา ๑๓  ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้มีการยกเลิกวิธีการเพื่อความปลอดภัยใด และถ้าผู้ใดถูกใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยนั้นอยู่ ก็ให้ศาลสั่งระงับการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยนั้นเสีย เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล หรือเมื่อผู้นั้น ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ

มาตรา ๑๔  ในกรณีที่มีผู้ถูกใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยใดอยู่ และได้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่จะสั่งให้มีการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยนั้นไป ซึ่งเป็นผลอันไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีของผู้นั้นได้ หรือนำมาใช้บังคับได้แต่การใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่ผู้นั้นยิ่งกว่า เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล หรือเมื่อผู้นั้น ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือร้องขอรับผลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น แล้วแต่กรณี ให้ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๕  ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษใดได้เปลี่ยนลักษณะมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย และได้มีคำพิพากษาลงโทษนั้นแก่บุคคลใดไว้ ก็ให้ถือว่าโทษที่ลงนั้นเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วย
               ในกรณีดังกล่าวในวรรคแรก ถ้ายังไม่ได้ลงโทษผู้นั้น หรือผู้นั้นยังรับโทษอยู่ ก็ให้ใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้นั้นต่อไป และถ้าหากว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมีเงื่อนไขที่จะสั่งให้มีการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัย อันไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีของผู้นั้น หรือนำมาใช้บังคับได้ แต่การใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่ผู้นั้นยิ่งกว่า เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล หรือเมื่อผู้นั้น ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือร้องขอรับผลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น แล้วแต่กรณี ให้ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๑๖  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใดแล้ว ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำเสนอของผู้นั้นเอง ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการใช้บังคับนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ศาลจะสั่งเพิกถอนหรืองดการใช้บังคับวิธีการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้นั้นไว้ชั่วคราวตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา ๑๗  บทบัญญัติในภาค ๑ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

อ่านต่อ
ประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๑ บทนิยาม (มาตรา ๑)

มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้
               (๑) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
               (๒) “ทางสาธารณะ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย
               (๓) “สาธารณสถาน” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
               (๔) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
               (๕) “อาวุธ” หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
               (๖) “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
               (๗) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
               (๘) “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
               (๙) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
               (๑๐) “ลายมือชื่อ” หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
               (๑๑) “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
               (๑๒) “คุมขัง” หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก
               (๑๓) “ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง
               (๑๔) “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า
                         (ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
                         (ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
                         (ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ
               (๑๕) “หนังสือเดินทาง” หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย
               (๑๖) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
               (๑๗) “สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้
               (๑๘) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น