1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2565
หมายจับเป็นหมายอาญาตามที่ ป.วิ.อ. บัญญัติไว้ใน หมวด 2 เมื่อตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา... ดังนั้นผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับได้ รวมทั้งให้หมายความถึงมีอำนาจพิจารณาการยกคำร้องขอออกหมายจับโดยพิจารณาว่าคดีอาญาตามที่ขอออกหมายจับนั้นขาดอายุความหรือไม่ ทั้งนี้ ในการออกหมายจับนั้นต้องพิจารณาประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการออกหมายจับ ผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาออกหมายจับมีอำนาจพิจารณาว่า คดีที่จะออกหมายจับนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย การสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการนับอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 แตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่ง ป.อ. บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว... เมื่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า และการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ ทั้งที่ผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า จึงต้องนําอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามากกว่า ไม่อาจนําบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2565
ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ” นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว...” ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้