คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2567 (ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่)
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีส่วนอาญายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรค 1 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสาม และมาตรา 252 มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ด้วยการยื่นคำร้องขออนุญาตถึงผู้พิพากษานั้น แต่ก็เป็นเพียงการนำมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้เท่านั้น ทั้งเหตุผลที่ต้องให้ผู้ฎีกาว่าประสงค์ให้ผู้พิพากษาคนใดพิจารณาอนุญาตให้ฏีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อที่ศาลที่รับคำร้องจะได้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคสอง และมาตรา 223 บัญญัติให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจตรวจฎีกา และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปในคำฟ้องฎีกาเสียทีเดียวได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วยก็ตาม เพราะถือเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของผู้พิพากษาที่สั่งอนุญาต การที่ผู้พิพากษาดังกล่าวตรวจฎีกาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และรับฎีกาของจำเลยไว้ จึงเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องตามเจตนารมณ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้ว ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปได้